ข้อบังคับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย

สิทธิ

หมวดที่ 1
ความทั่วไป
ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย” ชื่อย่อ “สท.ชร” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Chiangrai Tourism Association” ชื่อย่อ “CTA”
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม รูปพระธาตุดอยตุง ภูชี้ฟ้า และสามเหลี่ยมทองคำ

ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ 272 หมู่ 2 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
57000 โทรศัพท์ 053 – 742 493 โทรสาร 053 – 742 787
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคม
4.1 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว หน่วยงานราชการและสถาบันของเอกชน
4.2 ยกระดับการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงรายให้ได้มาตรฐาน
4.3 ส่งเสริมและเผยแพร่การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย
4.4 ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
4.5 ดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
4.6 ส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ตลอดจนให้ความร่วมมือช่วยเหลือ กันระหว่างสมาชิก และระหว่างชมรมและสมาคมอื่น
4.7 แสวงหาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
4.8 แสวงหาเงินทุนหรือรับการสนับสนุนในการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด เชียงราย

หมวดที่ 2
สมาชิกและสมาชิกภาพ
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
5.1 สมาชิกสามัญ
5.1.1 เจ้าของหรือผู้จัดการคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
5.1.2 เจ้าของหรือผู้จัดการโรงแรม
5.1.3 เจ้าของหรือผู้จัดการบริษัทนำเที่ยว
5.1.4 ผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือผู้เอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว
5.1.5 ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว
5.1.6 เจ้าของหรือผู้จัดการของร้านค้าของที่ระลึก
5.1.7 เจ้าของหรือผู้จัดการร้านอาหารหรือภัตตาคาร สถานบันเทิง
5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์
ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับ นับถือในวงการธุรกิจท่องเที่ยว เป็นผู้มีความสามารถให้คำปรึกษาแนะนำและให้การแนะนำ และให้การสนับสนุนอันเป็นหลักการและเป็นประโยชน์ต่อสมาคมเป็นผู้มีอุปการะต่อสมาคม ซึ่งคณะกรรมการสมาคมมีมติให้เชิญเข้ามาเป็นสมาชิกได้ และอยากให้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกรรมการบริหาร แต่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง
ข้อ 6 สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้น ความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ใน กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็น สมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
7.1 สมัครสมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนเป็นครั้งแรก 1,100 บาท
7.2 ค่าบำรุงเป็นรายปี ๆ ละ 1,000 บาท
7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใด
ข้อ 8 การสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นไปสมัคร ตามแบบต่อเลขาธิการสมาคม โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 2 คน และให้เลขาธิการติด ประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้นเมื่อกำหนดประกาศแล้ว ก็ให้เลขาธิการนำใบสมัคร และหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและเมื่อคณะกรรมการพิจาณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงสมาคม ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ไปสิ้นสุด ณ เดือนมีนาคมของปีนั้น แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
11.1 ตาย
11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และ คณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สิ้นที่ยังติดค้าง อยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
11.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
11.4 คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้
นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม มติให้ลบชื่อออกนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมด
11.5 ไม่ชำระค่าบำรุงสมาคมติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี
ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
12.1 มีสิทธิได้รับการสนับสนุนและร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆที่สมาคมจัดให้มีขึ้น
12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
12.3 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
12.4 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง
เป็นคณะกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุม
คนละ 1 คะแนนเสียง
12.5 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สิน ของสมาคม
12.6 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1ใน3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอ
ต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้ 12.7 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดย เคร่งครัด
12.8 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
12.9 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของ
สมาคม
12.10 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.11 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 3
การดำเนินการสมาคม
ข้อ 13 ให้ที่ประชุมใหญ่ เลือกตั้งนายกด้วยเสียงข้างมาก จำนวน 1 คน และนายกสมาคมที่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นผู้พิจารณาเลือกแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคม จำนวนอย่างน้อย 21 คน อย่างมากไม่เกิน 25 คน (รวมนายกสมาคม) ซึ่งนายกสมาคมและคณะกรรมการต้องมาจากสมาชิกสามัญเท่านั้น โดยมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารงานของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมใน
การติดต่อกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายก มีหน้าที่ช่วยเป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในการบริหารงานของสมาคม
และปฏิบัติหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมาย รวมถึงทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้โดยให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำแทน
13.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ขอสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆของสมาคมและประสานงานตามที่นายกสมาคมและ/หรือคณะกรรมการมอบหมาย
13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและจ่ายพัสดุครุภัณฑ์ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่นายกสมาคมและ/หรือคณะกรรมการมอบหมาย
13.5 กรรมการบริหาร ทำหน้าที่ช่วยบริหารงานของสมาคม การนำเสนอแผนงานโครงการ กิจกรรมกิจกรรมประจำปี การพิจารณาลงมติต่างๆในที่ประชุมคณะกรรมการ และการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่นายกสมาคมและ หรือ คณะกรรมการมอบหมาย
13.6 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่กำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการและเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากหน่วยงานราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากหน่วยงานราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้น ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 15 ตำแหน่งคณะกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตาวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับ วาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น และถ้าเป็นตำแหน่งนายกสมาคมว่าง ก็ให้คณะกรรมการเลือกกันเองเป็นนายกสมาคม
ข้อ 16 คณะกรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
16.5 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการ
สมาคมมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า3 ใน 4ของคณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 18 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
18.1 มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดย ระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อบังคับฉบับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการ หรือที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของ คณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ใน ข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจน มีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ของสมาคม
18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิก จำนวน 1 ใน 3 ของ สมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้อง จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่งันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องมีการประชุมกันอย่างน้อย 2 เดือน 1 ครั้ง และหรือหากมีเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ที่ประชุมพิจารณา ก็สามารถเรียกประชุมได้ ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 20 ในการประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต้ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้คณะกรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่

ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคม 2 ชนิด คือ
22.1 การประชุมใหญ่สามัญปีละครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อแสดงกิจการที่ทำไปในรอบปี เสนองบประมาณ บัญชีงบดุล จัดสรรเงิน บำรุงสาธารณประโยชน์ เลือกตั้งคณะกรรมการที่ออกตามวาระ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี ปรึกษากิจการต่างๆที่จะดำเนินการต่อไป
22.2 การประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อมีกิจการสำคัญเกิดขึ้นและคณะกรรมการเห็นเป็นความจำเป็น หรือสมาชิกร้องขอโดยทำหนังสือยื่นต่อเลขาธิการของสมาคม
ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือน มีนาคมของทุกๆ ปี
ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของสมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนี้ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสองสมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมตัวกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการสมาคม เป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจนโดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดประชุมใหญ่
ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังนี้
26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5 ตรวจสอบทะเบียนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 27 การประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม หากถึงกำหนดเวลาการประชุมแล้วสมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องของสมาชิกก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นกรณีการประชุมใหญ่ที่คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้เรียกประชุม ก็ให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุม ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุม คนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ธนาคารพาณิชย์ใดธนาคารหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตามมติของคณะกรรมการ
ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการลงนามแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ถ้าจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 33 ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันที่ที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34 ให้ถือเอาวันที่ 30 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ้นปีตามบัญชีของสมาคม เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่ายและงบดุล เพื่อให้ผู้สอบบัญชีของสมาคมตรวจสอบให้เสร็จก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่น้อยกว่า 60 วัน
ข้อ 35 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38 ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ 39 การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลักจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมลงมติว่าจะมอบทรัพย์สินให้กับองค์กรใด

หมวดที่ 7
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 41 การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาบังคับใช้ ในเมื่อข้อบังคับสมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ 43 สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง
————————————————————-

Leave a comment

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย